Thai Culture Blog

ประเพณี ปฎิบัติในไทย

ประเพณีทานขันข้าว งานบุญสำคัญของภาคเหนือ

ตานขันข้าว หรือ ทานขันข้าว พิธีสำคัญที่ถูกสืบทอดมา

ประเพณีทานขันข้าว หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า ‘ตานขันข้าว’ เป็นประเพณีการทำบุญที่ชาวเหนือจะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญู โดยในวันนี้ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารไปถวายให้พระหรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือในวันเทศกาบสำคัญ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสต่าง ๆ รวมไปถึงการทำบุญเพื่อให้ตนเองได้สะสมบุญไปในภพชาติหน้า

ส่วนใหญ่แล้วประเพณีนี้จะนิยมทำกันในช่วงวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันเข้าพรรษา ฯลฯ รวมไปถึงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

ตานขันข้าว หรือ ทานขันข้าว พิธีสำคัญที่ถูกสืบทอดมา
ตานขันข้าว หรือ ทานขันข้าว พิธีสำคัญที่ถูกสืบทอดมา

ซึ่งในวันดังกล่าวนั้นชาวบ้านจะต้องนำภัตตาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ไปถวานให้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่วัด เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่ ครูบาอาจารย์ ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยชาวล้านนามีความเชื่อกันว่าการทานขันข้าว จะช่วยให้ผู้ล่วงลับมีกินมีใช้ไม่อดอยาก ทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า

ของที่ต้องเตรียมในประเพณีทานขันข้าว (ตานขันข้าว)

  • อาหารคาว – หวาน
  • กรวยใบตอง
  • ดอกไม้
  • ธูป – เทียน
  • อุปกรณ์สำหรับกรวดน้ำ
  • ชื่อ – นามสกุลของผู้ล่วงลับ

เมื่อประเคนข้าวปลาอาหารให้ภิกษุเรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ก็จะให้ศีลให้พร และกล่าวโวหารการทำบุญในเรื่องต่าง ๆ โดยพระสงฆ์จะอ่านชื่อบรรพบุรุษตามที่ญาติโยมเขียนมาให้ เพื่อให้ผลบุญส่งไปถึง หรือหากชาวบ้านไม่ได้เขียนชื่อของผู้ล่วงลับมา ก็จะเป็นการกล่าวถึงบรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร เทวบุตร เทวดา ฯลฯ แทน พร้อมปิดท้ายด้วยการให้ศีลแก่ญาติโยม เมื่อเสร็จสิ้นพิธีญาติโยมก็สามารถนำอาหาร หรือปิ่นโตกลับไปได้ทันที

ประเพณีทานขันข้าว งานบุญสำคัญของภาคเหนือ
ประเพณีทานขันข้าว งานบุญสำคัญของภาคเหนือ

ประเพณีทานขันข้าวถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญทางภาคเหนือ ที่นอกจากจะเป็นการทำบุญที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูแล้ว การไปวัดหรือการร่วมกันทำอาหาร การตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ยังเหมือนกับการให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความรัก ความอบอุ่นของคนในครอบครัว ที่สำคัญยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์จารีตประเพณีที่สำคัญของภาคเหนือไว้ได้อีกด้วย ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ญาติผู้ใหญ่ไม่ต้องมีการอบรมสั่งสอนใด ๆ เกิดขึ้น แต่ผู้ใหญ่มักจะปฏิบัติให้ลูกหลานได้ดูเป็นตัวอย่างเสมอมา นั่นจึงทำให้คนเป็นลูกหลานได้สืบทอดประเพณีนี้แบบไม่ต้องเอ่ยปากบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อมูลจาก : มติชนสุดสัปดาห์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *