พิธีลอดซุ้มประตูป่า ประเพณีของชาวรัตภูมิ
พาทุกคนล่องใต้ไปกันที่ ‘จังหวัดสงขลา’ จังหวัดที่นอกจากจะเต็มไปเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีประเพณีขึ้นชื่ออย่างลอดซุ้มประตูป่าอีกด้วย ซึ่งหลายคนคงกำลังเกิดข้อสงสัยว่าประเพณีคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับประเพณีนี้มาฝากกันค่ะ
สำหรับประเพณีลอดซุ้มประตูป่า ‘พระครูโกวิทธรรมสาร’ หรือ ‘อาจารย์กลาย’ เจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า พิธีกรรมนี้เป็นพิธีที่ถูกชี้แนะมาจากหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท ที่ได้ลงมาประทับร่างของหลวงปู่ขาว (เจ้าอาวาสวัดห้วยลาดรูปที่ 3) ว่าให้มีพิธีลอดซุ้มประตูป่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสิริมงคลกับญาติโยมที่มาร่วมทำบุญที่วัด โดยซุ้มที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านสร้างขึ้นมา จากนั้นจึงให้พระภิกษุประพรมน้ำพุทธมนต์ และให้ผู้ร่วมงานได้ลอดซุ้มกัน

โดยมีความเชื่อกันว่าประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ถูกถอดแบบมาจากเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ณ เมืองเวสาลี ที่ตอนนั้นเคยเกิดโรคภัยร้าย ข้าวยากหมากแพง ทำให้ประชาชนชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส อีกทั้งยังมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มาช่วยปัดเป่าสิ่งเลวร้ายและทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระอานนท์นำบาตรมาใส่น้ำเพื่อประกอบพิธี แล้วจึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมให้กับชาวบ้าน ไม่นานชาวบ้านก็เกิดกำลังใจ พ้นจากทุกข์ จากโรคภัยต่าง ๆ นั่นเอง
สำหรับพิธีที่เกิดขึ้น ณ วัดห้วยหลาดในช่วงเช้าก่อนเริ่มลอดซุ้มนั้น ชาวบ้านจะมีการถวายมหาสังฆทานเพื่อร่วมสร้างบุญสร้างกุศลกันก่อน กระทั่งในช่วงบ่ายก็เริ่มเข้าสู่ช่วงพิธีการ โดยชาวบ้านนับพันคนจะทยอยเข้าคิวต่อแถวเพื่อลอดซุ้ม ซึ่งจะมีเจ้าอาวาสเป็นผู้นำขบวนผ่านไปก่อน แล้วจึงไปนั่งเจริญพุทธมนต์และประพรมน้ำมนต์ให้กับชาวบ้าน นับว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้

ในส่วนของวัดห้วยหลาดนั้นเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูง มีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง 12 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1342 โครงสร้างทำมาจากคอนกรีตและไม้ โดยมีหลวงปู่สีมั่น ทพอินโท เดินธุดงค์มาจากเพชรบุรี เมื่อมาถึงที่บริเวณนี้ในสมัยที่ยังเป็นป่าอยู่ เห็นว่าพื้นที่เต็มไปด้วยความสงบ จึงปักกลด จากนั้นจึงมีชาวบ้านมาช่วยกันสร้างเสนาสนะ จนกลายเป็นวัดที่ชาวรัตภูมินับถือมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อมูลจาก : Gimyong Travel