ประเพณีตายายย่าน สำคัญอย่างไรกับชาวสงขลา ?
ประเพณีตายายย่าน เป็นประเพณีส่วนชุมชนที่สืบต่อกันมายาวนานกว่าหลายร้อยปี โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีทำบุญเดือนหก หรือประเพณีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัววัดท่าคุระ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ (หากปีใดแรม ๑ ค่ำไม่ตรงกับวันพุธจะต้องเลื่อนออกไป) ณ ดท่าคุระ หมู่ที่ ๙ บ้านท่าคุระ ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ภายในพิธีจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวท่าคุระ ออกมาจากภายในห้องมณฑป เพื่อให้ชาวบ้านที่เคารพศรัทธาได้มีโอกาสสรงน้ำและกราบไหว้
โดยโอกาสสำคัญ ๆ เช่นนี้จะจัดขึ้นแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงทำให้ลูกหลานของชาวบ้านท่าคุระ ตลอดจนคนที่ไปอาศัยอยู่ที่อื่นจะต้องกลับมาสักการะด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว เป็นพระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิ มีขนาดหน้าตักเล็กเพียง 2 เซนติเมตร และความสูงประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระราชินีในสมัยสุโขทัยตอนปลาย

ซึ่งในตำนานได้มีการเล่าขานกันมาต่าง ๆ นานา แต่ตำนานที่หลาย ๆ คนพูดถึง คือตำนานเกี่ยวกับบุตรชายของเจ้าแม่อยู่หัวที่ได้ลงไปเล่นในท่าน้ำ แล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เจ้าแม่อยู่หัวจึงทรงรับสั่งให้ทหารออกค้นหาบุตรชาย จนสุดท้ายได้ไปพบบุตรชายที่บริเวณหมู่บ้านท่าคุระ ที่มี 2 ตายายช่วยกันดูแลบุตรชายอย่างดี เมื่อเจ้าแม่อยู่หัวทราบข่าวจึงได้มีการมอบทองคำให้กับสองตายาย จากนั้นสองตายายจึงนำทองคำไปหล่อเป็นพระพุทธรูป จากนั้นพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัวจึงได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ชาวบ้านท่าคุระมาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ภายในงานประจำปี ยังได้มีการแสดงที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นภาคใต้ นั่นคือ ‘โนราโรงครู’ ที่ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่เจ้าแม่โปรดปรานเป็นพิเศษ ประกอบกับการที่ชาวบ้านมักจะมาบนบานศาลกล่าว ด้วยการนำโนรามาแก้บนก็มักจะสำเร็จทุกครั้งไป ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้โนราโรงครูกับประเพณีตายายย่านเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่ในอดีต

โดยโนราโรงครูเป็นการร่ายรำโนราอย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน คืนแรกจะเป็นการรำเพื่อไหว้ครู ประกาสเชิญราชครู รำแม่บท ออกพราน และปิดท้ายด้วยการแสดงแบบชาวบ้าน ต่อมาในคืนที่ 2 และ 3 จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ได้บนบานเอาไว้ได้มารำแก้บน ซึ่งทางคณะก็จะมีชุดโนราไว้ให้ชาวบ้านได้สวมใส่
ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แต่สำหรับชาวบ้าน ณ บริเวณนั้นก็ให้ความเคารพ และความศรัทธามาตลอดหลายร้อยปี
ข้อมูลจาก : สำนักวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา