ประเพณีแห่พ่อคุณโขนมีความสำคัญอย่างไรกับชาวสมุทรสาคร
ประเพณีแห่พ่อคุณโขน เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งแน่นอนเลยว่าประเพณีแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะความบังเอิญแต่อย่างใด แต่ประเพณีแห่พ่อคุณโขนเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สร้างปาฏิหาริย์ต่าง ๆ จนทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก
โดยคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านก็มีตำนานเล่าขานกันมาว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นที่บริเวณคลองสุนัข ตั้งแต่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งในคราวนั้นได้มีคณะโขนคณะหนึ่งเดินทางผ่านแม่น้ำสายนี้แต่ทันทีที่มาถึงบริเวณชุมชนบางบ่อ เรือก็เกิดอับปางทำให้ผู้ที่เดินทางมาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ที่น่าแปลกใจคือศพของนักแสดงโขนสองพี่น้องกลับลอยขึ้นมาเหนือน้ำ โดยศพของผู้พี่ได้กอดหัวโขน (ทศกัณฑ์) อยู่ด้วย

เมื่อชาวบ้านเห็นดังนั้นก็ได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและเห็นถึงความรักต่ออาชีพที่ทำ ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลขึ้นตรงบริเวณที่พบศพผู้พี่เป็นระแวกบ้านบน เรียกกันว่า ‘ศาลพ่อคุณโขน’ ส่วนบริเวณที่พบศพผู้เป็นน้องจะอยู่ที่ บ้านล่าง และมีศาลที่ชื่อว่า ‘ศาลพ่อคุณน้อย’
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่าที่บริเวณแห่งนี้จะมีจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ที่คอยช่วยเหลือชาวบ้าน หรือหากเรือลำไหนที่แล่นผ่านแล้วไม่จอดสักการะเรือลำนั้นก็มักจะอับปางไปทำให้ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ นอกจากนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านรวมไปถึงบริเวณใกล้เคียงยังมักมาขอให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรือง ขอให้ฝนไม่ต้องในช่วงทำนาเกลือ และขอในเรื่องมงคลต่าง ๆ ซึ่งเมื่อสิ่งที่ขอสมดังปรารถนาชาวบ้านก็มักจะมากราบไหว้และแก้บนด้วยละครรำในงานประจำปี

ซึ่งในงานประจำปี ‘ประเพณีแห่พ่อคุณโขน’ จะจัดในช่วงขึ้น 12 – 14 ค่ำ เดือน 6 ณ ศาลพ่อขุนโขน โดยในแต่ละคืนก็จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การอัญเชิญพ่อคุณโขนลงมาจากศาลแล้วแห่ไปรอบหมู่บ้าน, การปิดทองและแก้บน, พิธีเวียนเทียน ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือตลอดระยะเวลา 3 คืน จะมีการแสดงมหรสพให้ได้ชมกันตลอดงาน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และเต็มไปด้วยความสนุกสนานเลยล่ะค่ะ
ขอเล่าย้อนไปถึง ‘คลองสุนัขหอน’ กันหน่อย คลองแห่งนี้เป็นคลองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน เป็นคลองสำคัญของภาคกลางที่ไว้ใช้สำหรับการค้าขายและการคมนาคม ที่สำคัญในช่วงกรุงศรีฯ เสียราชธานีเป็นครั้งที่ 2 คลองสุนัขหอนยังเป็นเส้นทางในการเดินทัพของพม่าอีกด้วย

แต่เมื่อบ้านเมืองสงบคลองสุนัขหอนก็เป็นเส้นทางสำคัญระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์และหัวเมืองตะวันตก ซึ่งบ้านบ่อก็เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่หากใครเล่นเรือผ่านก็จะผ่านที่ชุมชนแห่งนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้บ้านบ่อยังเป็นชุมชนสำคัญที่เคยถูกกล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่อีกด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนสำคัญในประเทศไทยที่นอกจากจะมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายแล้ว ยังมาพร้อมกับตำนานเล่าขานที่น่าแปลกใจมากอีกด้วยค่ะ
ข้อมูล : museumthailand