พามารู้จัก ‘ประเพณียี่เป็ง’
ประเทศไทยถือว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยประเพณีต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแต่ละภาคก็จะชูความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา ผ่านประเพณีสำคัญนั้น ๆ อย่างดินแดนล้านนาทางภาคเหนือ ก็เป็นอีกหนึ่งที่ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย
และทุกคนก็น่าจะรู้จักประเพณีขอขมาแม่คงคาอย่าง ‘วันลอยกระทง’ กันดีอยู่แล้ว แต่หากคุณได้ลองไปที่ศูนย์รวมล้านนาอย่างจังหวัดเชียงใหม่ คุณก็จะได้พบกับวันลอยกระทงที่พิเศษกว่าที่อื่น ๆ ซึ่งประเพณีที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ คือประเพณียี่เป็งนั่นเองค่ะ

ซึ่งคำว่ายี่เป็ง เป็นภาษาล้านนาที่สามารถแยกออกได้เป็น 2 คำ คือ ยี่ มีความหมายว่าเดือนสอง หรือเดือนยี่ตามที่คนล้านนาใช้เรียกเดือนพฤศจิกายน และคำว่าเป็ง จะหมายถึงพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ โดยจะจัดงานทั้งสิ้น 3 วัน ดังนี้
- วันขึ้น 13 ค่ำ หรือ วันดา ที่จะเป็นวันจัดเตรียมข้าวของสำหรับใช้ในวันทำบุญ
- วันขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญ ถือศีล ฟังธรรมกันที่วัด และมีการทำกระทงใหญ่ร่วมกันไว้ที่ลานวัด จากนั้นชาวบ้านก็จะนำของกินต่าง ๆ ที่เตรียมเอาไว้ มาใส่ในกระทง เพื่อเป็นการทำทานให้แก่คนยากจน
- วันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านก็จะนำกระทงใหญ่ รวมไปถึงกระทงเล็ก ๆ ส่วนตัวไปลอยในแม่น้ำเหมือนกับวันลอยกระทงทั่วไป
แต่สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ไปเยือน คือภายในงานยี่เป็งคุณจะได้เห็นโคมไฟลอยอยู่บนท้องฟ้า ส่องแสงสว่างไปทั่วทั้งงาน ซึ่งสำหรับคนภาคอื่น ๆ จะคุ้นเคยกับคำว่า โคมลอย แต่สำหรับคนล้านนาจะเรียกสิ่ง ๆ นี้ว่า ‘ว่าว’ ซึ่งว่าวในภาษาล้านนา จะหมายถึง เครื่องเล่นชนิดหนึ่งทำด้วยกระดาษ สำหรับปล่อยให้ลอยไปตามลม คล้าย ๆ กับบอลลูน
และตามวัฒนธรรมของล้านนา ในช่วงยี่เป็งจะมีการปล่อยว่าว 2 แบบ คือ

- ว่าวฮม (ว่าวลม) หรือ ว่าวควัน จะเป็นรูปแบบของโคมลอยที่เราคุ้นเคยกันดี จะใช้ควันที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เพื่อให้ว่าวสามารถที่จะพยุงลอยขึ้นบนอากาศได้ นอกจากนี้ยังผูกสายประทัดติดที่หางว่าว และจุดเมื่อปล่อย นิยมปล่อยกันในช่วงกลางวัน

- ว่าวไฟ จะใช้หลักการเดียวกันกับว่าวฮม แต่ว่าวไฟจะใช้กระดาษในการทำน้อยกว่า และอาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ติดกับแกนกลาง โดยลูกไฟที่ติดกับแกนกลางนั้นในอดีตจะใช้ขี้ย้าหล่อเป็นแท่ง แต่ในปัจจุบันจะนิยมใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียน นิยมจุดกันในตอนกลางคืน
ล่องสะเปา ลอยกระทงฉบับล้านนา

นอกจากนี้ชาวล้านนายังมีกระทงที่มาในรูปแบบเฉพาะ จะเรียกว่า ‘สะเปา’ หรือไหลเรือสำเภา โดยชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันทำสะเปาที่วัด เสร็จแล้สก็จะนำไปวางลงบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวง (สิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของทางเหนือล้านนา) พร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ใส่ลงไปในสะเปา
และช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็งก็จะพากันมาหามสะเปาไปปล่อยลงในแม่น้ำ เมื่อสะเปาลอยไปไดไกลในระยะหนึ่ง ก็จะมีคนยากจนคอยดักสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำอาหารและของใช้ต่าง ๆ ไปใช้ และนี่ถือเป็นพิธีกรรมที่มาในรูปแบบของการทำทานนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา ยังนับว่าอยู่บนฐานความเชื่อเดียวกันกับประเพณีลอยกระทงในภาคอื่น ๆ ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญคือการขอขมาแม่พระคงคา และบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมไปถึงทำทานให้กับคนยากไร้
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : True ID