รวมประเพณีสุดยิ่งใหญ่ของภาคกลาง
ภาคกลางหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพียงศูนย์กลางของการทำมาค้าขายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ภาคกลางก็เป็นอีกหนึ่งภาคในประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่แพ้ภาคอื่น ๆ ที่สำคัญประเพณีของคนในภาคกลาง ก็ยังเต็มไปด้วยความเชื่อ เรื่องเล่า และความศรัทธาของคนมาตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน
วันนี้เราจึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประเพณีขึ้นชื่อของภาคกลาง จะมีประเพณีไหนโดดเด่น และน่าสนใจบ้างไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
ประเพณีรับบัว

- ถือเป็นประเพณีเก่าแก่อย่างหนึ่งของชาวบ้านอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พบหลักฐานตั้งแต่ในปี พ.ศ.2467 ว่าเดิมทีเคยจัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งในสมัยก่อนที่แห่งนี้เป็นที่อาศัยของคน 3 กลุ่ม คือ คนไทย ลาว และรามัญ (ชาวมอญพระประแดง) ที่มีความสัมพันธ์อันดีฉันท์พี่น้อง
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

- จัดขึ้นในช่วงแรม 15 ค่ำเดือน 10 จุดเริ่มต้นของประเพณีมีมาเมื่อประมาณ 400 ที่แล้ว โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประกอบอาชีพหาปลาขาย และได้ไปหาปลาที่แม่น้ำป่าสักทุกปี แต่แล้ววันหนึ่งบริเวณดังกล่าวกลับหาปลาไม่ได้เลยสักตัว จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นบริเวณวังมะขามแฟบ น้ำที่ไหลเชี่ยวมากกลับหยุดนิ่ง และมีพลายน้ำโผล่ขึ้นมาพร้อมพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ เมื่อถึงวันสารทไทยพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวกลับหายไป ชาวบ้านจึงออกตามหาและพบพระพุทธรูปอยู่ในจุดเดิม (วังมะขามแฟบ) จากนั้นเป็นต้นมา ทุกวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จึงมีประเพณีอุ้มพระดำน้ำเกิดขึ้น
ประเพณีวิ่งควาย

- เป็นประเพณีขึ้นชื่อของจังหวัดชลบุรี ที่มีมามากกว่า 100 ปี จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 หรือช่วงก่อนออกพรรษา 1 วัน เพื่อเป็นการทำขวัญควายและให้ควายได้พักผ่อนหลังจากตรากตรำจากการทำนามานาน อีกทั้งยังเหมือนเป็นการให้ประชาชนได้มาร่วมสังสรรค์และสัมพันธไมตรีกันในงานอีกด้วย
ประเพณีกวนข้าวทิพย์

- เป็นประเพณีพระราชทานที่ทำกันในเดือน 10 มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราขธานี แต่เพิ่งได้รับการฟื้นฟูในช่วงรัชกาล 4 เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันจะทำกันในช่วงเดือน 12 บางแห่งก็อาจจะเป็นเดือนที่ 1 แล้วแต่พื้นที่
ประเพณีการทำบุญโคนไม้

- เป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดตราด ที่จะทำกันในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน ซึ่งนอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วยังเหมือนเป็นการปลูกฝังลูกหลานให้รู้จักรักผืนป่า ต้นไม้ และน้ำ ไม่คิดทำลายธรรมชาติ ที่ตนต้องพึ่งอาศัย
หากใครที่มีโอกาสมาเยือนที่ภาคกลาง ก็อย่าลืมแวะไปชมและไปเที่ยวเทศกาลสำคัญที่เรานำมาแนะนำนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Thailandbysai