Thai Culture Blog

ประเพณี ปฎิบัติในไทย

ข้อปฏิบัติและมารยาทในการไปงานศพ

การไปร่วมงานสำคัญของผู้อื่นข้อปฏิบัติและมารยาทที่ควรทำในงานนั้น ๆ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ยิ่งเป็นงานศพซึ่งเป็นงานที่เต็มไปด้วยความรัก ความโศกเศร้า และความห่วงหาอาลัยด้วยแล้ว ผู้ที่ไปร่วมงานก็จำเป็นจะต้องเรียนรู้ข้อปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ซึ่งการไปงานศพนอกจากจะต้องสวมใส่เครื่องแต่งกายด้วยโทนสีที่สุภาพแล้ว มารยาทเรื่องอื่น ๆ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อปฏิบัติที่สำคัญในการไปร่วมงานศพมานำเสนอเพื่อเป็นความรู้ให้กับทุกคนกันค่ะ

การให้เกียรติเจ้าภาพ

  • อย่างที่ทราบกันดีว่าการไปร่วมงานในลักษณะนี้ การให้เกียรติเจ้าภาพด้วยการแต่งกายถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ชุดที่เลือกใส่ควรเป็นสีดำล้วน ขาว สีเทาเข้ม หรือสีสุภาพไม่ฉูดฉาด และต้องดูเรียบร้อย ไม่รัดรูป เครื่องประดับสวมใส่ได้แต่ไม่ควรเป็นเครื่องประดับที่มีประกายมากจนเกินไป
  • วันแรกของการตั้งศพนั้นจะเริ่มต้นด้วยพิธีรดน้ำศพ โดยพิธีนี้ส่วนใหญ่แล้วเจ้าภาพจะเชิญคนสนิท หรือคนที่รู้จักเพื่อไปร่วมพิธี แต่ในปัจจุบันหากผู้ตายเป็นที่เคารพรักของผู้อื่น เจ้าภาพก็จะจัดงานเพื่อให้คนอื่นสามารถร่วมพิธีได้ โดยการไปรดน้ำศพนั้นผู้เข้าร่วมงานเมื่อเดินทางไปถึงพิธีแล้วก็ควรทักทายและแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพ จากนั้นให้ไปนั่งรอในที่ที่จัดเตรียมไว้ แล้วเจ้าภาพจะเป็นผู้มาเชิญท่านให้ไปรดน้ำศพที่ตั้งอยู่ โดยให้ทำความเคารพศพ และเทน้ำอบที่เตรียมไว้ลงบนมือ พร้อมขออโหสิกรรม แล้วจึงกลับไปนั่งที่เดิม
  • การแสดงความเสียต่อเจ้าภาพถือเป็นข้อปฏิบัติที่ควรทำ แต่หากรู้สึกลำบากใจที่ต้องกล่าวบางสิ่งก็อาจจะพูดให้กำลังใจ หรือพูดถึงเรื่องราวดี ๆ อื่น ๆ ที่สำคัญห้ามพูดถึงเรื่องแย่ ๆ ของผู้ที่จากไปเด็ดขาด เพราะจะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติทั้งตัวผู้ตายและเจ้าภาพค่ะ
ข้อปฏิบัติและมารยาทในการไปงานศพ

ควรส่งพวงหรีดไปตอนไหน ?

  • บางคนอาจจะไม่สะดวกเดินทางไปเคารพศพแต่ต้องการส่งพวงหรีดไปเพื่อเป็นการแสดงความอาลัย โดยการส่งพวงหรีดนั้นสามารถส่งได้ตลอดระยะเวลาในการจัดงานศพค่ะ

ควรวางตัวอย่างไรเมื่อไปร่วมงานศพ ?

  • เมื่อเดินทางไปถึงงานแล้วควรทักทายเจ้าภาพ เข้าไปกราบพระ และเคารพผู้ล่วงลับไปแล้ว
  • หาที่นั่งให้เหมาะสม โดยที่นั่งของแขกธรรมดาจะอยู่บริเวณด้านหลัง
  • ระหว่างที่อยู่ในงานหากได้เจอกับคนรู้จักที่ไม่ได้พบกันนาน ไม่ควรทักทายกันอย่างสนุกสนานจนเกินไป
  • หากมีเรื่องจำเป็นต้องพูดคุยกัน ควรคุยกันตอนที่พระหยุดสวดแล้ว เพื่อไม่เป็นการรบกวนแขกคนอื่น ๆ ที่มาร่วมงาน
  • หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรพาเด็กเล็กไปร่วมงาน เพราะเด็กส่วนใหญ่ก็คงอยากจะวิ่งเล่นตามประสา แต่ด้วยสถานที่ที่ไปไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่นซนของเด็ก จึงทำให้เด็กเกิดความเบื่อและอาจส่งเสียงรบกวนคนอื่นได้

งานศพเป็นงานที่เราทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่หากมีเหตุให้ต้องไปร่วมงานลักษณะนี้จริง ๆ ข้อปฏิบัติ มารยาท และการวางตัวในการร่วมงานถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพแล้ว ยังถือเป็นการให้เกียรติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วยค่ะ   

ขอบคุณข้อมูลจาก : หรีด ณ วัด , Funeral Plans

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *