Thai Culture Blog

ประเพณี ปฎิบัติในไทย

ที่มาของประเพณีแข่งเรือยาว จังหวัดน่าน

‘ประเพณีแข่งเรือ’ ของจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่บรรพบุรุษได้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งในสมัยก่อนจะมีการจัดการแข่งขันทุกครั้งที่มีงาน ‘ตานก๋วยสลาก’ หรือถวายทานสลากภัต ซึ่งเมื่อหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งจัดให้มีงานตานก๋วยสลากขึ้น ก็จะมีการเชื้อเชิญหมู่บ้านและวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกัน เพื่อสร้างความสนุกสนานและฝึกความสามัคคี

ต่อมาทางราชการจึงได้ถือเอางานตานก๋วยสลากมาจัด ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดกลางเวียงของน่าน เพื่อเป็นการเปิดสนามการแข่งขันเรือของจังหวัด โดยประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน และจะสิ้นสุดการแข่งขันนัดปิดสนามในช่วง 15 ค่ำ เดือน 12 หรือประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน

ภาพจาก : www.mgronline.com/travel/detail/9580000095898

การแข่งขันเรือประเพณีจังหวัดน่าน มีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 เมื่อครั้งกรมสมเด็จเจ้าฟ้าพระนครสวรรค์วรพินิจฯ เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน เจ้าผู้ครองนครน่านจึงได้จัดให้มีการแข่งขันเรือประเพณีให้ทอดพระเนตร และอย่างที่ได้บอกไปว่าที่น่านจะมีตานก๋วยสลาก พระ เณร และชาวบ้านก็จะต้องเดินทางไปอีกหมู่บ้านหนึ่งโดยจะใช้เรือเป็นยานพาหนะ ระหว่างล่องเรือก็จะมีกลอง ฉิ่ง ฉาบ คอยสร้างความบันเทิง คนเฒ่าคนแก่ก็จะลุกขึ้นมาฟ้อน จึงทำให้นี่กลายเป็นที่มาของท่าฟ้อน ‘ล่องน่าน’ ที่มีท่าฟ้อนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และในช่วงบ่ายชาวบ้านก็จะนำเรือมาแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน

ภาพจาก : www.sites.google.com

โดยเอกลักษณ์ของเรือเมืองน่านนั้นจะมีความแตกต่างจากเรือของที่อื่น ๆ คือ เรือจะต้องขุดมาจากไม้ตะเคียนหรือใช้ตะเคียนทองทั้งต้น ซึ่งมีความเชื่อกันว่าไม้ตะเคียนจะมีความทนทานและแข็งแรง ตรงบริเวณส่วนหัวของเรือหรือโขนเรือ จะแกะสลักเป็นหัวพญานาคแบบล้านนาที่กำลังแสยะเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายของเรือก็จะสลักเป็นหางของพญานาค

ซึ่งชาวน่านจะมีความผูกพันกับพญานาค โดยมีความเชื่อกันว่าพญานาคนั้นจะปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน วัดวาอาราม ทั้งช่วยบันดาลให้ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่ ทำนา ได้ตามฤดูกาล นอกจากนี้ในการทำเรือนั้นยังจะต้องมีพิธีบายศรีสู่ขวัญหลังจากแข่งขันเสร็จ โดยชาวน่านจะมีความเชื่อว่าไม้ตะเคียนที่นำมาทำเรือจะมีเทพอารักษ์สิงสถิตอยู่ ที่เรียกกันว่า ‘ผีเรือ’ หรือที่เราคุ้นหูกับคำว่า ‘แม่ย่านาง’ นอกจากนี้ยังจะต้องหาฤกษ์ หาวัน และเวลาให้เหมาะสมกับการแข่งขัน เพื่อเป็นสิริมงคล และการแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่นนั่นเองค่ะ

ภาพจาก : www.thaihealth.or.th

และในปัจจุบันประเพณีแข่งเรือของจังหวัดน่าน จะมีการแข่งขันทั้งหมด 2 ประเภท คือประเภทความสวยงามและประเภทเรือเร็ว โดยเรือที่มีความสวยงามก็จะเน้นในเรื่องของการตกแต่งด้วยรูปร่างต่าง ๆ และต้องแฝงไปด้วยความหมายที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเมืองน่าน บางลำอาจจะมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านบนเรือเพื่อเพิ่มความสวยงาม และสร้างความเพลิดเพลินให้กับคนดู

ส่วนประเภทเรือเร็ว ก็จะวัดกันที่ความเร็วล้วน ๆ โดยการจะแข่งขันให้ประสบผลสำเร็จได้ก็จะต้องผ่านการซักซ้อมมาเป็นอย่างดี ต้องมีความสามัคคี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถึงจะสามารถคว้าชัยชนะมาได้ และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของการแข่งเรือเร็วก็จะอยู่ที่คนพากย์ ที่จะพากย์การแข่งขันแบบไม่เว้นช่วงให้หายใจ ภาษาที่ใช้พากย์ก็จะเป็นภาษาท้องถิ่นที่หากใครฟังออกรับรองเลยว่าจะต้องสนุกขึ้นแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *